สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ประกาศว่า เช้ามืดวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศไทย หากฟ้าใสและไร้เมฆฝน
รายละเอียดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นระหว่างเวลา 03:09 – 04:27 น. (ตามเวลากรุงเทพมหานคร) โดยดาวเสาร์จะค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และกลับมาปรากฏอีกครั้ง ช่วงเวลานี้สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือผ่านกล้องโทรทรรศน์ หากมองด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นรายละเอียดของวงแหวนดาวเสาร์ที่ชัดเจนมากขึ้น
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า การเกิดปรากฏการณ์นี้ วัตถุทั้งสองจะปรากฏอยู่บริเวณกลางท้องฟ้า โดยดาวเสาร์จะอยู่ใกล้กับส่วนสว่างของดวงจันทร์
วิธีการสังเกตปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ทุกจังหวัดทั่วไทย ตั้งแต่เวลา 02:30 น. เป็นต้นไป โดยสดร. จะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ความสำคัญของปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
นายศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) มีความสำคัญอย่างมากต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์ เนื่องจากสามารถใช้ในการคำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอก
ปรากฏการณ์ครั้งถัดไป
ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ในปีนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 02:19 – 03:00 น. ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ